ประเทศไทยก้าวสู่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตใหม่ IPv6 (Internet Protocal version 6)กระทรวงเทคโนโลยีสารสน เทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ประกาศพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ IPv6 อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พ.ค. 54 โดย รศ.ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับตำแหน่งนายกสมาคม IPv6 ประเทศไทย แม้เรื่อง IPv6 (Internet Protocal version 6) หรือการระบุหมายเลขอินเทอร์เน็ต จะพูดกันมาราว 10 ปีว่าต้องเปลี่ยนผ่านการใช้งานจาก IPv4 สู่ IPv6 เนื่องจากการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณเลขหมาย IPv4 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 พันล้านเลขหมายที่ใช้งานทั่วโลกหมดลง ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่านการใช้งานเข้าสู่ระบบใหม่ที่เรียกว่า IPv6 ที่รองรับการใช้งานได้มากกว่า IPv4 ถึง 2 ยกกำลัง 96 เท่า หากจะเปรียบให้เห็นภาพปริมาณเลขหมายของ IPv6 ว่ามีจำนวนมากมายเพียงใด ก็คงเทียบกับเม็ดทรายทุกเม็ดบนโลกสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน IPv6 ได้ นอกจากนี้จุดเด่นของ IPv6 คือ รองรับการรับ-ส่งข้อมูล และดูข้อมูลมัลติมีเดียได้ดีกว่า IPv4
สำหรับประเทศไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสน เทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ประกาศพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ IPv6 อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พ.ค. 54
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า การพาประเทศไทยก้าวสู่การใช้งาน IPv6 กระทรวงไอซีทีเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งคณะทำงานส่งเสริมนโยบาย IPv6 ซึ่งมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนมาร่วมพิจารณาการดำเนินการใช้ IPv6 ของประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมเครือข่าย IPv6 สำหรับภาครัฐเป็นการนำร่อง เริ่มจากงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ด้วยโครงข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ (GIN) ของกระทรวงไอซีที ซึ่งมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
“การพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่การใช้งาน IPv6 นี้ จะเริ่มที่โครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ คาดว่าปี ค.ศ. 2015 จะใช้ IPv6 ได้ครอบคลุม”
ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสน เทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศ ไทย พ.ศ. 2552-2556 ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กำหนดให้เริ่มพิจารณาวางแผนการสร้างโครงข่ายการสื่อสารยุคใหม่ หรือ Next Generation Network : NGN รวมถึงองค์ประกอบสำหรับขยายขอบข่ายของบริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันไปสู่บริการอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ หรือ IPv6 ให้เป็นผลสำเร็จ ตลอดจนได้มีการวางแผนการใช้งาน IPv6 ในโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติไว้ด้วย ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ IPv6 มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน และองค์กรหลาย ๆ แห่งก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับการนำร่อง IPv6 ในโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐจะเริ่มที่การบริหารจัดการเลขหมาย IPv6 ในโครงข่าย และทดสอบการใช้งานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 รวมทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ด้านไอทีของภาครัฐเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ IPv6 ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีเจ้าหน้าที่ด้านไอทีประมาณ 2-3 พันคน
รศ.ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ นายกสมาคม IPv6 ประเทศไทย กล่าวว่า ปริมาณเลขหมายอินเทอร์เน็ตของ IPv4 หมดแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แต่การก้าวเข้าสู่การใช้งาน IPv6 อย่างเต็มรูปแบบของประเทศไทยคงต้องใช้เวลานับ 10 ปี ทว่าช่วงเปลี่ยนผ่านยังคงต้องใช้งานควบคู่กันไประหว่าง IPv4 และ IPv6 ซึ่งขณะนี้ประเทศที่มีการใช้งาน IPv6 อย่างสมบูรณ์แล้วคือ อเมริกา เกาหลี ไต้หวัน และประเทศแถบยุโรป ส่วนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ก้าวสู่การใช้งาน IPv6 แล้ว คือ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ของเอเชียในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ IPv6
“การเปลี่ยนผ่านจาก IPv4 สู่ IPv6 ประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่สนใจว่าการเปลี่ยนผ่านจะเป็นอย่างไร เพียงขอให้ใช้งานได้ก็พอ หากแต่การเปลี่ยนผ่านจาก IPv4 สู่ IPv6 อาจทำให้การเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ช้าลงบ้าง แต่ไม่กระทบอะไร”
ทั้งนี้ ทั่วโลกกำหนดให้วันที่ 8 มิ.ย. 54 เป็นวัน World IPv6 DAY (เวิลด์ ไอพีวี6 เดย์) ที่ทั่วโลกพร้อมกันทดสอบการใช้งาน IPv6 เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งทำการทดสอบและตรวจสอบการใช้งานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://isoc.org/wp/worldipv6day/
อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบการใช้งานการเปลี่ยนผ่านจาก IPv4 สู่ IPv6 ดูรายละเอียดได้เลย.
ทำไมไม่มี IPv5
ตามมาตรฐานด้านอินเทอร์เน็ตโพรโตคอล จะมีการระบุส่วนที่เป็นรุ่นของ อินเทอร์เน็ตเวิร์ก เจเนรัล โพรโตคอล (Internetwork general protocol) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น เบอร์ 4 โดยถูกระบุให้เป็นอินเทอร์เน็ตโพรโตคอล ส่วนเวอร์ชั่น เบอร์ 5 ถูกนำไปใช้แล้วและระบุให้เป็น ST Datagram Mode (ST) เกี่ยวข้องกับ Internet Stream Protocol ดังนั้นในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นใหม่ จึงต้องใช้เวอร์ชั่น เบอร์ 6 หรือ IPv 6
ที่มา : http://www.psu.ac.th/node/3321